วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เทคนิคงานเขียนเรื่องสั้น นิยายจากปู่ “เบน โบวา” (Ben Bova)


บทความนี้คัดมาจาก blog ผมที่ Pantip.com ครับ กะว่าจะเอามารวบรวมไว้ที่นี่ ที่เดียวเลย


ผมอ่านเทคนิคงานเขียนของ Ben Bova ตั้งนานแล้วครับ… เป็นบทความที่ได้จาก internet กับหนังสือวิธีเขียนเรื่องแนว Sci-fi ฉบับภาษาอังกฤษอีกเล่มหนึ่ง (ในเล่มมีการสอนเทคนิคการเขียนเรื่องแนวไซไฟสลับกับเรื่องสั้นที่นำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ด้วย แต่ภาษาในช่วงเรื่องสั้นอ่านยากมากครับ บางเรื่องถึงขั้นอ่านไม่รู้เรื่องเลย ผมก็เลยอ่านเอาแต่เฉพาะภาคทฤษฎีการเขียน) หลังจากนั้นเซฟเก็บไว้ในเครื่อง เห็นว่าแต่เทคนิคละข้อมีประโยชน์มากและเป็นเทคนิคที่น่าสนใจ จึงอยากจะเอามาแบ่งปันให้กับผู้ที่สนใจ…


หลายท่านอาจจะไม่รู้จัก Ben Bova (ชื่อเต็มคือ Benjamin William Bova) แต่ถ้าท่านที่ชอบอ่านเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ต้องคุ้นๆชื่อของ Ben Bova ดี (เรื่องสั้นของ Ben Bova ที่แปลเป็นภาษาไทยยังไม่เคยเห็นครับ) ตอนนี้ปู่เบน อายุ 76 ปีแล้ว แต่ผลิตงานเขียนออกมาเยอะมาก เสียดายครับที่ไม่มี สนพ. ไหนของไทยที่ซื้อเรื่องที่ปู่เลนเขียนมาแปลเป็นภาษาไทยให้อ่าน



ถ้าอยากอ่านงานเขียนของปู่เบนคงต้องหาดาวโหลดเอาครับ ในเวปบิทต่างประเทศมีให้โหลดครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/Ben_Bova

เทคนิคงานเขียนของ Ben Bova

1 นักเขียนต้องเขียนทุกวัน

“อย่างอ้างว่าไม่มีเวลาเขียนแต่จงหาเวลาเขียน” วันละหนึ่งชั่วโมงก็ยังดี แต่ขอให้นั่งที่โต๊ะทุกวัน แม้ว่าบางวันจะไม่สามารถ”วางคำ”ลงบนกระดาษได้ก็ตาม (ผมเคยได้ยินมาว่า นักเขียนบางท่านเขียนได้ประโยคเดียวในตอนเช้า และพอตอนเย็นก็ลบประโยคเดียวนั้นทิ้งซะ)

เขียนวันละหน้า เดือนหนึ่งก็ได้สามสิบหน้า พอครบปีก็จะได้หนังสือนิยายหนาๆเล่มหนึ่งเลย

การทำงานเขียนเป็นเรื่องยาก มันง่ายดายมากที่เราจะหาข้ออ้างว่าไม่อยากเขียน ดังนั้นจงหาเวลาเขียนทุกๆวัน ทำให้เป็นนิสัย เรื่องบันเทิงอื่นๆต้องมาเป็นอันดับรองจากงานเขียน

2 นักเขียนต้องอ่านหนังสือให้หลากหลายประเภท

อ่านทุกประเภท ไม่จำเป็นว่าต้องอ่านเรื่องหรือแนวที่เราสนใจเท่านั้น การอ่านหนังสือหลายประเภททำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย และเป็นวัตถุดิบที่ดีในการนำมาสร้างเรื่องที่จะเขียน ประเภทของหนังสือที่เราสามารถหามาอ่านได้เช่น แนวประวัติศาสตร์ นิยาย ชีวประวัติ ท่องเที่ยว หนังสือนิตยสารเกี่ยวกับการค้นพบในวงการวิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าและที่เราสนใจ

หนังสือหรือนิตยสารเล่มไหนที่เราอ่านแล้วรู้สึกสนุกในครั้งแรก ให้เราลองกลับไปอ่านอีกรอบแต่ครั้งนี้ให้พยายามดูว่าผู้เขียนใช้กลวิธีหรือเทคนิคในการนำเสนออย่างไร อะไรทำให้เรารู้สึกว่าอ่านแล้วสนุก จดโน๊ตหรือจำเอาไว้เพื่อเอาไปใช้

“เราจะเรียนรู้ได้จากการอ่านและวิเคราะห์สิ่งที่อ่านเพื่อนำไปใช้กับงานเขียนของเรา”

3 เขียนเกี่ยวกับคนที่เรารู้จัก

คำแนะนำสำหรับนักเขียนใหม่ที่เรามักได้ยินเสมอคือ เขียนในสิ่งที่เรารู้ เป็นคำแนะนำที่ดีเพราะมันเป็นเรื่องยากที่เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางข้ามทะเลทรายถ้าเราไม่เคยเดินทางข้ามทะเลทรายมาก่อน จริงๆแล้วเราอาจจะหาข้อมูลจากการอ่านได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประสบการณ์โดยตรงของเราเอง (ความคิดเห็นของผมเอง : นอกจากว่าเราต้องค้นคว้าอย่างหนักเพื่อเขียนในสิ่งที่เราไม่มีความรู้หรือไม่เชี่ยวชาญ)

การเขียนเกี่ยวกับคนที่เรารู้จัก เพราะตัวละครเป็นหัวใจของนิยายทุกเรื่อง เรื่องที่ดีต้องเริ่มจากตัวละครก่อน ตัวละครที่สร้างขึ้นมาแล้วดูน่าเชื่อถือ สามารถทำให้เรื่องของเราน่าเชื่อถือด้วย แล้วจะสร้างตัวละครจากไหน?

ตัวละครได้มาจากคนที่อยู่รอบๆตัวเรา นักเขียนควรจะสร้างตัวละครขึ้นมาจากต้นแบบที่เป็นคนจริงๆผสมผสานจินตนาการลงไป สร้างตัวละครขึ้นมาจากคนหลายๆคนที่เรารู้จัก ไม่จำเป็นต้องมาจากคนๆเดียวเท่านั้น นักเขียนบางท่านก็สร้างตัวละครขึ้นมาโดยใช้ตัวเองเป็นต้นแบบและนำลักษณะอื่นๆเช่นนิสัย การกระทำของคนที่อยู่รอบๆตัวเข้ามาผสมผสานจนกลายเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวา และน่าเชื่อถือ

จงมองผู้คนที่รายล้อมรอบตัวเรา…มองให้เห็นความรักของพวกเขาเหล่านั้น ความสนุกร่าเริง ปัญหาของพวกเขา ความกลัว ความหวัง ทั้งหมดนี้คือวัตถุดิบที่คุณสามารถนำมาใช้ในงานเขียนหรือนิยายของคุณได้

คราวหน้าจะมาต่อด้วยเทคนิคข้อที่สี่ เราจะสร้างเรื่องเพื่อเขียนออกมาเป็นนิยายได้ยังไง….

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น